การบริโภคชะลอตัว กระทบดัชนีความเชื่อมั่นฯ ก.ค. 60 ลดลงอยู่ที่ระดับ 83.9

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ายังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) กรกฎาคม 2560 จำนวน 1,064 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 28.6, 36.0 และ 35.4 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 43.9,16.0,14.6,13.5 และ 12.0 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 77.7 และ 22.3 ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม2560 อยู่ที่ระดับ 83.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.7 ในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยมีปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ ความกังวลต่อการฟื้นตัวของการบริโภค โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ประกอบในเดือนกรกฎาคมมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นอุปสรรคต่อภาคการผลิตและการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อปัญหาต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทที่กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อม

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 100.7 ในเดือนมิถุนายน เนื่องจากผู้ประกอบการคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการใช้จ่ายและการบริโภคในช่วงครึ่งหลังของปี 2560

ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนกรกฎาคม 2560 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม และขนาดใหญ่ ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน

โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 69.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 70.9 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น อุตสาหกรรมแก้วและกระจก และหัตถอุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 94.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.0 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 84.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 81.7 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งองค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ และอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 99.9 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 94.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 97.8 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 107.1 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนกรกฎาคม 2560 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของภาคเหนือและภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน

ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 87.0ปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากระดับ 87.7 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก (สินค้าประเภทเหล็กเส้น เหล็กลวด และเหล็กแผ่น มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนทำให้ความต้องการใช้ในกลุ่มก่อสร้างลดลง ด้านการส่งออกเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ส่งออกไปประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกงลดลง) อุตสาหกรรรมเครื่องสำอาง (ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากผู้บริโภคระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ด้านการส่งออกมียอดคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศ จีน ญี่ปุ่น ยุโรป และ CLMV) อุตสาหกรรมรองเท้า (สินค้าประเภทรองเท้าสำเร็จรูปมียอดขายในประเทศลดลง ประกอบต้นทุนการผลิตด้านราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ด้านการส่งออกรองเท้ากีฬาและส่วนประกอบของรองเท้า มียอดคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดยุโรป) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก (ผลิตภัณฑ์ประเภทถุงพลาสติก กล่องอาหาร และขวดพลาสติก มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก ถุงพลาสติก ฟิล์มพลาสติก และบรรจุภัณฑ์อาหาร มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น มาเลเซียและฮ่องกงเพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากระดับ101.5 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ภาคเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 71.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 69.3 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เส้นใยเรยอนประดิษฐ์มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกเส้นใยสิ่งทอสำหรับผลิตเสื้อผ้ากีฬา มีคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น และผ้าผืนส่งออกไปยังประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ (ผลิตภัณฑ์กระดาษทิชชู ผ้าอนามัย มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์เยื่อและกระดาษ มีการส่งออกไปยุโรปเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมสมุนไพร (สารสกัดจากสมุนไพร น้ำมันหอมระเหย และผลิตภัณฑ์สปามีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์สปาและเครื่องหอม มียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น มาเลเชีย และสิงค์โปร์ เนื่องจากมีการขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก (กระเบื้องเซรามิก กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศลดลง จากความต้องการใช้ลดลงในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.9 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 79.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 83.4 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปชะลอตัวลง จากเดือนก่อนหน้าเนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ด้านการส่งออก เสื้อผ้าสำเร็จรูปมียอดสั่งซื้อลดลงจากตลาดสหรัฐฯและยุโรป) อุตสาหกรรมน้ำตาล (น้ำตาลทรายขาว มียอดขายในประเทศลดลงตามความต้องการใช้ที่ลดลงในสินค้าประเภทเครื่องดื่ม ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อจากตลาดเอเชียลดลง ประกอบกับเป็นช่วงฤดูปิดหีบอ้อย) อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (สินค้าประเภทหินก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ อิฐมอญ และอิฐโปร่ง ที่ใช้ในการก่อสร้างมียอดขายในประเทศลดลง ประกอบกับบางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมทำให้การผลิตลดลง) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์และโทรคมนาคม (สินค้าประเภทชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และ CLMV เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการปรับสายการผลิตให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี และความต้องการใช้ในผลิตภัณฑ์มือถือและอุปกรณ์รถยนต์ที่ทันสมัยขึ้น สินค้าประเภทแผงวงจรไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดอาเซียน และยุโรป) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 97.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 94.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 96.3 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (เครื่องปรับอากาศมียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนทำให้ความต้องการใช้ลดลง ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดญี่ปุ่น ยุโรป และออสเตรเลีย) อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (เครื่องประดับทำด้วยเงินและอัญมณี มีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดยุโรปและออสเตรเลีย เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าทำให้กระทบต่อการส่งออก ประกอบมีปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ) อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน (ผลิตภัณฑ์แผงโซลาเซลล์ มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีการปรับขึ้นราคาสินค้า) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (ชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงหน้าฝนมีการซ่อมแซมรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดยุโรป อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 109.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 105.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 83.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 79.5 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (ผลิตภัณฑ์ยางประเภทถุงมือยางทำความสะอาด, ถุงยางอนามัย และถุงมือที่ใช้ในทางการแพทย์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และ CLMV) อุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ (เครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากโรงพยาบาล-คลีนิก เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนเครื่องมือแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ) อุตสาหกรรมอาหาร (อาหารทะเลกระป๋อง เช่น ปลา ทูน่ากระป๋อง และอาหารทะเลแปรรูป มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศสหรัฐฯ และเอเชีย) ด้านอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ไม้ยางพาราแปรรูปมีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศจีน เนื่องจากมีสต็อคในปริมาณสูง ขณะที่ยอดขายในประเทศชะลอตัว จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และการก่อสร้างลดลง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 103.4 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน

กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ กรกฎาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 80.3 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 80.8 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรการเกษตร, อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 99.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 96.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 97.4 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น, อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 107.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 103.4 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับด้านปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการ ในเดือนกรกฎาคม 2560 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนกรกฎาคม คือ ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในภูมิภาค รวมถึงเสนอให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ เร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2560 และเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับประเทศอินเดียและปากีสถาน เพื่อขยายตลาดสินค้าไทยและแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน

Visitors: 1,263,268