กองทุนประกันชีวิตเผยทำประกันชีวิตทิ้งเงินร่วมพันล้านบ.

จากเงินกธ.ล่วงพ้นอายุความที่ยังไม่ไปรับสิทธิ
ผจก.กองทุนฯ ระบุมีผู้ทิ้งสิทธิได้รับเงินสูงถึง 6.38 แสนราย

นายจรัญ สอนสวัสดิ์ ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต เปิดเผยว่าคณะกรรมการบริหารกองทุน ได้มอบนโยบายให้กองทุนดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่ของกองทุนและสิทธิประโยชน์การประกันชีวิต ให้ผู้เอาประกันชีวิตและประชาชนทั่วไป ได้รับรู้ในวงกว้าง ดังนั้น กองทุนจึงได้กำหนดมาตรการเชิงรุกด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ พัฒนาฐานข้อมูล และสร้างสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ผ่านทาง เว็บไซด์, โซเชียลเน็ตเวิร์ค, โซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อเป็นช่องทางในการขับเคลื่อนการเพิ่มความเชื่อมั่นการประกันชีวิต คุ้มครองสิทธิ์แก่ประชาชน กองทุนประกันชีวิตจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551) เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่เป็นนิติบุคคล นับถึงปัจจุบันก็เข้าสู่ปีที่ 10 นับเป็น 10 ปีที่มีความท้าทาย เนื่องจากกองทุนประกันชีวิตมีภาระหน้าที่หลักด้วยกัน 2 ประการ

1.คุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยในกรณีที่บริษัทประกันชีวิตถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตซึ่งในบทบาทนี้กองทุนได้ทำหน้าที่เตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ความเข้าใจเพื่อปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องได้หากมีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างไรก็ดีด้วยบทบาทหน้าที่การกำกับดูแลบริษัทประกันชีวิตที่เคร่งครัดของสำนักงานคปภ.ทำให้ฐานะทางการเงินในปัจจุบันของทุกบริษัทมีความมั่นคงกองทุนจึงได้ปรับบทบาทในส่วนนี้เป็นการส่งเสริมความเชื่อมั่นการประกันชีวิตด้วยการเผยแพร่ความรู้สิทธิประโยชน์ของการประกันชีวิต ควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิทธิ์อันพึงได้รับจากการทำประกันชีวิตด้วยเริ่มตั้งแต่ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับ สำนักงาน คปภ. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร เป็นต้น เพื่อบูรณาการส่งเสริมประกันภัยเชิงรุกตามโครงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกองทุนประกันชีวิตผ่านกลุ่มเครือข่ายสำนักงานคปภ.ซึ่งทำควบคู่ไปกับโครงการประสานความสัมพันธ์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความรู้ด้านการประกันชีวิตระหว่างกองทุนประกันชีวิต สำนักงาน คปภ.ภาค/จังหวัด และตัวแทนประกันชีวิตในพื้นที่ทั่วประเทศ โครงการเผยแพร่ความรู้ด้านการประกันชีวิตผ่านชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กิจกรรมคลินิก สคบ.ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในส่วนของการออกบูทประชาสัมพันธ์ กองทุนประกันชีวิตก็ได้เข้าร่วมเป็นประจำสม่ำเสมอเช่นงานมหกรรมการเงินการลงทุนและในช่วงอันใกล้นี้จะเป็นงานวันประกันชีวิตแห่งชาติ และงานสัปดาห์ประกันภัย นอกจากนี้กองทุนประกันชีวิตยังได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ สื่อดิจิตอล ไลน์กรุ๊ป NK News และ เว็บไซด์ www.lifeif.or.th

2. พัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้มีความมั่นคง และมีเสถียรภาพ เนื่องจากกองทุนประกันชีวิตมีหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนผู้เอาประกัน ในขณะที่ประชาชนที่ทำประกันชีวิตแล้ว แต่ยังไม่ทราบถึงสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์มีอีกเป็นจำนวนมากดังจะเห็นได้จาก เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ ที่ผู้เอาประกันชีวิตไม่ได้ไปขอรับเงินจากบริษัทที่ได้ทำประกันชีวิตเอาไว้ จนระยะเวลาล่วงพ้น 10 ปี บริษัทต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนประกันชีวิตตามกฎหมายเงินดังกล่าวเรียกว่า เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 มีเงินจำนวน 886,886,553 บาท ผู้เอาประกันซึ่งมีสิทธิ์ได้รับเงินดังกล่าวมีมากถึง 638,746 ราย ในขณะที่กองทุนจ่ายเงินคืนได้เพียง 11,378,210 บาท ผู้มารับสิทธิ์เพียง 1,078 ราย

สำหรับสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ เช่น 1)ผู้เอาประกันชีวิตบางรายไม่สามารถติดต่อได้ อาทิเช่น ย้ายที่อยู่ เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ แล้วไม่แจ้งข้อมูลใหม่ให้บริษัทประกันชีวิตทราบ 2) ผู้ทำประกันชีวิตบางรายเสียชีวิตและไม่ได้แจ้งให้ทายาททราบว่าได้ทำประกันชีวิตไว้ 3) ผู้ทำประกันชีวิตไม่ส่งเบี้ยประกันปีต่ออายุ ทำให้ขาดความคุ้มครอง 4) ผู้เอาประกันชีวิตได้รับเช็คแล้ว แต่ไม่ไปขึ้นเงินจนลืมหรือเช็คขาดอายุ

นายจรัญ สอนสวัสดิ์ ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต กล่าวว่าจากสาเหตุหลักๆเหล่านี้ คณะกรรมการบริหารกองทุน จึงได้มอบนโยบายให้กองทุนเร่งรัดเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ค้นหาแนวทางวิธีการให้ผู้เอาประกัน ทายาท หรือผู้รับประโยชน์ได้รับรู้ถึงสิทธิ์เหล่านั้นกลับคืนโดยสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยขณะนี้กองทุนประกันชีวิตได้ปรับปรุงและพัฒนาโปรแกรมสืบค้นข้อมูลให้ผู้เอาประกันสามารถตรวจสอบสิทธิ์ของตนเองได้จากระบบภายในของกองทุนฯก่อน เมื่อทราบว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินคืนก็สามารถส่งเอกสารผ่านทางไปรษณีย์มายังกองทุนประกันชีวิต หรือมายื่นเอกสารด้วยตนเองที่กองทุนประกันชีวิต หรือยื่นเอกสารผ่านทางสำนักงาน คปภ.จังหวัด ที่มีอยู่ทั่วประเทศ และเมื่อได้รับเอกสารหลักฐานครบถ้วนแล้วจะจ่ายเงินโดยโอนเข้าบัญชีธนาคารหรือจ่ายเป็นเช็ค ในอนาคตกองทุนประกันชีวิตมีแผนพัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูลผู้มีสิทธิตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ ที่สามารถตรวจสอบสิทธิได้ผ่านทางเว็บไซด์กองทุน และเพิ่มช่องทางการจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การพัฒนาระบบประกันชีวิตให้มีเสถียรภาพ กองทุนฯก็ได้ทำควบคู่กันไป นั่นคือ การดำรงเงินกองทุนให้มีปริมาณเพียงพอหากเกิดกรณีที่บริษัทประกันชีวิตใดถูกเพิกถอนใบอนุญาต ประชาชนผู้เอาประกันก็จะได้รับสิทธิความคุ้มครองรายละไม่เกิน 1,000,000 บาท

จากสิทธิประโยชน์ของประชาชนดังกล่าว กองทุนจึงได้เร่งรัดเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทางเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบในวงกว้าง ตั้งแต่เริ่มต้นการทำประกันชีวิต สิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ ตลอดจนการใช้สิทธิตามกรมธรรม์ อันจะเป็นส่งเสริมความมั่นคงในชีวิตและพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมต่อไปกองทุนประกันชีวิตสร้างความเชื่อมั่นให้ธุรกิจคุ้มครองสิทธิผู้เอาประกัน  https://www.facebook.com/LifeInsuranceFund.fanpage www.lifeif.or.thเบอร์โทร ติดต่อ 02-7911333

Visitors: 1,261,160