กระทรวงวิทย์ฯ แถลงข่าวความพร้อมการจัดงาน

“มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2560”
ก้าวสู่ปีที่ 12 อย่างยิ่งใหญ่ระดับเอเชียในเดือนสิงหาคมนี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

3 สิงหาคม 2560 - รร.พูลแมน คิงพาวเวอร์ (รางน้ำ)/ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในการแถลงข่าวความพร้อมการจัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2560” (National Science and Technology Fair Thailand2017) ภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม”ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อลังการแห่งปี รวมสุดยอดนิทรรศการกิจกรรม งานวิจัย และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดแสดงบนพื้นที่ 40,000 ตารางเมตรณ ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 17-27สิงหาคม 2560คาดมีผู้เข้าชมงานที่เป็นทั้งเด็ก เยาวชน ครอบครัวและประชาชนทั่วไปทั้งคนไทยและชาวต่างชาติกว่า 1.2 ล้านคน

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2560 จัดขึ้นเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ ”พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”อีกทั้ง ในปีนี้ยังมีแนวคิดเพื่อสื่อสารถึงความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป้าหมายการพัฒนาประเทศเข้าสู่ Thailand 4.0 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ Sustainable Development Goals (SDGs) และเพื่อร่วมฉลองวาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์ในโอกาสที่องค์การสหประชาชาติ (UNESCO) มีมติให้ปี 2560เป็น “ปีสากลแห่งการท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ “2017International Year of Sustainable Tourism for Development”ซึ่งเป็นหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายของ SDGs อีกด้วย มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ จึงถือเป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีของประเทศและภูมิภาคเอเชียในการแสดงผลงานความก้าวหน้าและศักยภาพทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมด้วยศักยภาพของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของไทยและต่างประเทศรูปแบบของกิจกรรมในงานคล้ายเทศกาลวิทยาศาสตร์ (Science Festival) ในหลายประเทศ คือประกอบด้วย การจัดนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรูปแบบทันสมัย มีความเป็นสากล เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วม (Interactive Exhibition) โดยเน้นหัวข้อที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย New S-curve มุ่งสู่ Thailand 4.0 รวมทั้งได้มีการนำแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องสะเต็มศึกษา (STEM Education) มาใช้ในการจัดกิจกรรมในรูปแบบ เล่น-เรียน-รู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม ในประเด็นการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และส่งเสริมการสร้างกิจกรรมภายในครอบครัว ภายใต้กรอบแนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม”โดยในปีนี้เป็นการผนึกกำลังร่วมกันของ 10 กระทรวง มากกว่า 100 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน และปีนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศอีก 7ประเทศ 16 หน่วยงานเข้าร่วมจัดกิจกรรมแสดงความก้าวหน้าและเทคโนโลยี ได้แก่ ญี่ปุ่น (9 หน่วยงาน) สหรัฐอเมริกา (2 หน่วยงาน) สหราชอาณาจักร เยอรมัน ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ เพื่อกระตุ้นความสนใจแก่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสริมสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนที่จะต้องเติบโตและเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในวันข้างหน้า รวมถึงการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

รศ.นพ.สรนิตศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวเสริมถึงความยิ่งใหญ่ของงานในครั้งนี้ว่า ภายในงานประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมถึง 5 โซน มากมายองค์ความรู้ให้ทุกคนได้เข้าไปมีส่วนร่วม ตั้งแต่นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ, นิทรรศกลางที่นำเสนอประเด็นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน หรือมีความสำคัญ มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่และการพัฒนาประเทศในอนาคต, กิจกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตในแนวทางสะเต็มศึกษา, นิทรรศการแสดงศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย การประกวดและแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ การประชุม สัมมนา และการแสดงสินค้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมการนำเอาเทคโนโลยีและมัลติมีเดียใหม่ๆ มาใช้ในการจัดแสดง เพื่อสร้างประสบการณ์ เปิดมุมมองการเรียนรู้ผ่านสื่อ Interactive พร้อมด้วยนิทรรศการรูปแบบ 4DSimulator ที่มาช่วยเติมความสุข สนุกสนาน และเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้ ได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับปรุงรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการให้มีความทันสมัยมีความเป็นสากล และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มกิจกรรมสำหรับทุกเพศทุกวัยให้ได้ร่วมสนุกและทดลอง สำหรับนิทรรศการที่ไม่ควรพลาด ได้แก่นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ (Royal Pavilion)นำเสนอพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และนำเสนอพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช“พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย และพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”รวมทั้ง นำเสนอพระอัจฉริยภาพของพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงมีบทบาทและให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.อรรชกาฯกล่าวแนะนำเพิ่มเติมอีกว่านิทรรศการหลัก ที่มีการนำเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศเข้าสู่ Thailand 4.0 รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ Sustainable Development Goals (SDGs) และปีสากลแห่งการท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนอาทิ นิทรรศการนวัตกรรมพลังงาน(Innovation Energy)เข้าใจพื้นฐานพลังงาน วิวัฒนาการพลังงานความร้อน รู้จักกับแหล่งพลังงานในโลกและพลังงานหมุนเวียน เพื่อช่วยกันอนุรักษ์แหล่งพลังงานธรรมชาติและแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน ชมนวัตกรรมพลังงานที่ต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการได้มาซึ่งพลังงานทางเลือกที่เพิ่มขึ้น พบกับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ทางเลือกใหม่ของวินมอเตอร์ไซค์ โดยผลงาน Start up นิทรรศการท่องเที่ยวยั่งยืน (International Year of Sustainable Tourism) สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวเมืองไทยกับภาพยนตร์ในรูปแบบ 4D Simulatorและเทคนิค 4D Effect สมจริงสนุกสนานที่ทุกคนรอคอย...โดยจะมียายพิกุล และหลานบุญมา สองช้างยายหลานที่อาสาพาผู้ชมไปชื่นชมกับความสมบูรณ์และคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติการท่องเที่ยวไทยผ่านมุมมองใหม่ที่จะสนับสนุนให้การท่องเที่ยวยั่งยืนต่อไป พร้อมเรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ พบความยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมโบราณที่บรรพบุรุษชาวไทยได้สร้าง ที่แม้แต่องค์กรระดับโลกอย่าง UNESCO ยังให้การยอมรับและขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกนิทรรศการนวัตกรรมอาหารและการเกษตร(Agriculture and Food Innovation)พบกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็วมากขึ้น เพื่อเป็นการรองรับประชากรโลกที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในปี ค.ศ. 2050 ชมSmart Farmer’s House ระบบการเกษตรแม่นยำสูง แนวทางการทำการเกษตรแนวตั้ง เกษตรครัวเรือน ชมนวัตกรรมด้านอาหารที่ทำให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการที่ให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในสังคมและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทั้งในปัจจุบันและอนาคต อาทิ นิทรรศการยุคมนุษย์ครองโลก (Anthropocene)การใช้ทรัพยากรเกินจำเป็นแบบไม่จบสิ้นจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ อาจทำให้การสูญพันธุ์กลับมาอีกครั้ง นิทรรศการนี้จะพาทุกคนเข้าสู่ยุค “มนุษย์กำหนดอนาคตโลก” ร่วมกับตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันหาทางออกแห่งอนาคตด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะมาปรับให้มนุษย์และธรรมชาติอยู่ด้วยกันต่อไปได้อย่างยั่งยืน พร้อมสนุกไปกับบันไดยักษ์Carbon Playground เรียนรู้วิวัฒนาการของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากยุคอดีตจนถึงปัจจุบันลองหา Carbon Footprint จาก Lifestyle ของคุณเอง แล้วตัดสินใจว่าอนาคตคุณจะปกป้องโลกได้อย่างไร นิทรรศการสูงวัยใกล้ตัว(Aging Society)พบกับเมืองจำลองสูงวัย ใคร ๆ ก็ต้องเจอ เข้าสู่ “เมืองเพิ่มอายุ” ที่จะทำให้ผู้เข้าชมสัมผัสประสบการณ์สูงวัย ทดลองเป็นผู้สูงวัยด้วยอุปกรณ์และฐานจำลอง 5 ฐานเพื่อความเข้าใจผู้สูงวัยมากขึ้น และเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ผู้สูงวัยในอนาคตที่ทุกคนต้องเจอสนุกกับเมืองอัจฉริยะแสนสุขสำหรับทุกช่วงวัย ในรูปแบบเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงวัยกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม นิทรรศการ Miracle of Science : สารพัดพิษที่นำเสนอในรูปแบบ Fantasy ดินแดนสารพัดพิษที่ปกคลุมด้วยไอหมอกแห่งความลึกลับกับเหล่าพืชพิษและสัตว์พิษที่ซ่อนเร้น และแฝงด้วยอันตรายในทุกย่างก้าว มาเรียนรู้เรื่องพิษที่มีโทษต่อมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้พิษเหล่านั้นมาสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์ได้ในคราวเดียวกัน สนุกสนานกับละครและนิทานหรรษานานาพิษ ชมสัตว์ พืช แมลง ดอกไม้พิษชนิดต่าง ๆ และรู้จักว่าพิษของมันมาจากไหนนิทรรศการยักษ์ใหญ่ใต้ทะเลลึก(Monsters of The Sea)ที่จะนำผู้เข้าชมเดินทางไปในมหาสมุทรใต้ท้องทะเลลึก ตื่นตาตื่นใจไปกับสัตว์ดึกดำบรรพ์ขนาดยักษ์โบราณที่เป็นจ้าวทะเลลึกในยุคMesozoic ซึ่งเป็นยุคเดียวกับไดโนเสาร์ ที่มีความยาวมากถึง 5-10 เมตร ด้วยเทคนิคการแสดง Animatronics ที่เลียนแบบการเคลื่อนไหวในชีวิตจริง ก่อนนำไปจัดแสดงอย่างเต็มรูปแบบที่ อพวช. คลองห้า จ.ปทุมธานี เร็ว ๆ นี้ อาทิ เพลซิโอซอรัส’ (Plesiosaurus) ตำนานต้นฉบับของเนสซีแห่งทะเลสาปล็อคเนสส์ ที่มาพร้อมกับ ‘เมกาโลดอน’ (Megalodon) ฉลามยักษ์ฟันโตขนาดเท่าฝ่ามือ เรียนรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการ การปรับตัว และการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ในท้องทะเล ตลอดจนสาเหตุของการสูญพันธุ์ยิ่งไปกว่านั้นภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีนิทรรศการและกิจกรรมสำหรับเยาวชนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ในแนวทาง STEM Education ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์และต่อยอดสู่อาชีพที่เกี่ยวข้องกับ วทน. ได้แก่ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ลานกิจกรรมพัฒนาปัญญาเยาว์ ลานกิจกรรมประกวดแข่งขัน ห้องฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ เป็นต้น

รศ.นพ. สรนิต ยังกล่าวเสริมอีกว่า นอกจากนิทรรศการหลักแล้ว ยังมีนิทรรศการและกิจกรรมจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอีกมากมายที่มาร่วมกันเนรมิตพื้นที่ 40,000 ตารางเมตรของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ให้ยิ่งใหญ่อลังการ อย่างในวันแถลงข่าวนี้ก็มีตัวอย่างนิทรรศการจากหลายหน่วยงานมาร่วมจัดแสดง อาทิสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)นำเสนอตัวอย่างนิทรรศการ ชวนท่อง “อาณาจักรดาวเสาร์” จับตาภารกิจสำคัญ “ฉากสุดท้ายของยานแคสสินี : วีรบุรุษแห่งดาวเสาร์” ซึ่งจะโคจรเข้าสู่ชั้นบรรยากาศชั้นบนของดาวเสาร์ในวันที่ 15 กันยายน 2560 เพื่อเผาไหม้ตัวเอง พร้อมกับปิดฉากภารกิจการสำรวจของยานลำนี้อย่างสมบูรณ์, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำกิจกรรมไฟฉายจากหลอดแอลอีดี และวงจรไฟกระพริบ มาให้เยาวชนทดลองลงมือทำตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนกระทั่งพร้อมการใช้งาน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความสนใจ และเป็นการให้ความรู้พื้นฐานด้านอิเล็กทรอนิกส์แก่เยาวชน เป็นตัวอย่างในการประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์อย่างง่าย เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้และทำความเข้าใจถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น ที่ใช้เวลาน้อย และสามารถลงมือทำได้ด้วยตนเอง,สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (วว.)นำเสนอผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกด้วย วทน. ในพื้นที่พิเศษจังหวัดเลย ภายใต้ความร่วมมือกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้แก่ มะพร้าวอ่อนแก้วตราเคียงเลยขนมปังขาไก่จากกล้วยน้ำว้า ตรา บานานาแฟมิลี่ และสบู่กาแฟ ตรา คอฟฟี่ เป็นต้น ด้านกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)นำกิจกรรมเรียนรู้การทดลองทำภาพ 3 มิติ ด้วยเทคนิคฮอโลแกรม PyramidHalogram Screen จากแผ่นพลาสติก แสดงความแตกต่างระหว่างภาพถ่ายธรรมดา (Photograph) และภาพฮอโลแกรม (Hologram) เยาวชนจะได้เรียนรู้คุณสมบัติการสะท้อนแสงของวัสดุพลาสติก

ในส่วนของนิทรรศการหลัก ได้นำตัวอย่างจัดแสดงจาก 3 นิทรรศการมาแสดงให้ดูเช่นกัน อาทินิทรรศการMakerSpaceจากสิ่งประดิษฐ์ สู่วิถีคิดนวัตกรรมแสดงตัวอย่างของสิ่งประดิษฐ์พิชิตปัญหาโดยการนำวัสดุที่มีอยู่ วัสดุเหลือใช้ หรือวัสดุรีไซเคิลมาสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อการช่วยเหลือทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ อาทิ กระดาษลัง, โฟม, ขวดน้ำดื่ม, ตะเกียบ, หนังยาง, เศษวัสดุเหลือใช้, ส่วนนิทรรศการ Miracle of Science : สารพัดพิษจัดแสดงตัวอย่างพืชและสัตว์มีพิษมาให้ชม เช่น แมงกะพรุนกล่องและแมงกะพรุนหมวกโปรตุเกส ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์มีพิษร้ายแรงมากที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง, มดกระสุนปืนมดที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลกจากป่าอะเมซอนที่สามารถกัดคนตายได้ เป็นต้น รวมทั้ง ชมตัวอย่างอุปกรณ์ให้เยาวชนทดลองเป็นผู้สูงวัยจากนิทรรศการสูงวัยใกล้ตัวเช่น เครื่อง Ossiloscope เครื่องมือวัดสัญญาณไฟฟ้า การวัดความถี่ วัดเฟสของสัญญาณ, โมเดลสมอง, โมเดลกระเพาะปัสสาวะ, โมเดลกระดูกพรุน และหุ่นยนต์เสริมการเรียนรู้ AIM Robot โดยภาควิชาวิศวชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือให้แก่ครูผู้ปกครองหรือผู้ที่สนใจในการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กทั้งเด็กปกติและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งหุ่นยนต์สามารถนำไปใช้เสริมการสอนในรายวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ทักษะชีวิต และการฝึกพูดแก่เด็กๆ เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ยังมีหน่วยงานร่วมจัดจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมจัดแสดงในครั้งนี้ อาทิ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพาจัดแสดงนิทรรศการ “ทุกชีวิตมีคุณค่า จะดำรงรักษาอย่างไรให้คงอยู่” ตัวอย่างแมงกะพรุนดอง, ฟองน้ำหูช้าง และหอยจิ๋ว เป็นต้น, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดแสดงผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและเครื่องสำอางจากพืชสมุนไพร อาทิ เครื่องสำอางจากสารสกัดถั่วหรั่ง, มาส์กว่านหางจระเข้ผสมสารสกัดว่านตาลเดี่ยวเป็นต้นส่วนบริติช เคานซิลนำเสนอโครงการ“ทูตสะเต็ม” (STEM Ambassador) เพื่อถ่ายทอดความรู้ ให้คำแนะนำ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียนได้เห็นประโยชน์ของการนำความรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ไปใช้ในบริบทของชีวิตจริงและการประกอบอาชีพนอกจากนี้ ยังมีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่มานำเสนอเกี่ยวกับการเรียนรู้กระบวนการวิศวกรรมด้วย Quaker Robotเป็นต้น

ด้านนางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริรองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่เป็นแม่งานสำคัญในการดำเนินการจัดงานในครั้งนี้ กล่าวถึงความพร้อมในการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ปีนี้ว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญในการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ นี้มาก โดยเน้นให้มีความยิ่งใหญ่อลังการกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทั้งพื้นที่การจัดแสดงที่จัดเต็มทั่วทั้งฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี และเป็นงานวิทยาศาสตร์ที่จัดนานที่สุด ที่สำคัญยังมีผู้เข้าชมมากกว่า 1 ล้านคนในทุก ๆ ปี ซึ่ง อพวช. ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรองรับผู้เข้าชมจำนวนมาก โดยมีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อความสมบูรณ์พร้อมในทุกๆด้าน ทั้งด้านสถานที่ระบบสาธารณูปโภค ระบบการจราจร การบริการรถรับ-ส่ง การปฐมพยาบาล การรักษาความปลอดภัย การบริการต้อนรับ ร้านค้าร้านอาหาร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ในการดูแลต้อนรับและอำนวยความสะดวกผู้เข้าชมงานที่คาดว่าปีนี้จะมีมากถึงกว่า 1.2 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังมี 2 ดาราดังพรีเซ็นเตอร์ของงานเก้า จิรายุ ละอองมณี และน้องมายด์ ลภัสลัล จิรเวชสุนทรกุล ซึ่งได้มาร่วมการแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย โดย เก้า จิรายุ กล่าวว่า “จริงๆ แล้ว ตนเคยเป็นพรีเซ็นเตอร์งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ นี้มา3 ครั้งแล้ว ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ทุกครั้งที่มาเดินชมงานรู้สึกชื่นชอบ สนุกและได้ความรู้มาก ที่สำคัญรู้สึกประทับใจในความทุ่มเทของผู้จัดงานที่ช่วยกันเนรมิตทุกบูธนิทรรศการและกิจกรรมที่นำมาจัดแสดงได้อย่างน่าชื่นชมมาก และในปีนี้ก็เช่นเดียวกันที่ทุกคนจะได้พบกับเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่น่าสนใจมากมาย โดยส่วนตัวแล้วสนใจนิทรรศการ Maker Space จากสิ่งประดิษฐ์ สู่วิถีคิดนวัตกรรมซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ในยุคปัจจุบันเพื่อปลดปล่อยจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ ปลุกความเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือ "เมกเกอร์" (Maker)พบกับ Maker’s Showcase หุ่นยนต์กู้ภัย ชมผลงานจาก Maker Community มาร่วมกันฝึกทักษะการเป็น Maker จากความคิดสร้างสรรค์ ไปสู่การลงมือทำ กิจกรรม Kid Maker, Maker Studio ชมสาธิต 3D Printing และห้ามพลาดกับการแข่งขันบังคับ Drone หุ่นยนต์ Mindstrom เพื่อผ่านอุปสรรคในการปฏิบัติภารกิจท่ามกลางภาวะฉุกเฉิน”

ด้านน้องมายด์ ลภัสลัล จิรเวชสุนทรกุล อีกหนึ่งพรีเซ็นเตอร์คนดัง กล่าวว่า สำหรับมายด์มีความชื่นชอบในวิชาวิทยาศาสตร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และยิ่งได้รับเกียรติให้เป็นพรีเซนเตอร์ของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้ ซึ่งเป็นศูนย์รวมแห่งองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีเช่นนี้ ก็ยิ่งรู้สึกยินดีมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยส่วนตัวในฐานะคนรุ่นใหม่อยากจะแนะนำนิทรรศการโลกดิจิทัล(Digital World)ที่จะทำให้เราตื่นตาตื่นใจไปกับเทคโนโลยีที่ทำให้กระแสของโลกเปลี่ยนแปลง อาทิ Lot (Internet of Things), Clould Technology, Big Data, Autonpmous, 3D Printing, VR, AR เป็นต้น พร้อมกันนี้เรายังจะได้สัมผัสโลกแห่งอนาคตกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเราอาทิ Smart Home Smart Education Smart Economy Smart Heath อีกด้วย

ดร.อรรชกาฯ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่าขอเชิญชวนเยาวชนและประชาชนทุกท่านเข้าชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2560 ที่จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ระหว่างวันที่ 17-27สิงหาคม 2560เวลา 09.00-19.00 น. ณ ฮอลล์ 2-8อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมสนุกและเรียนรู้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทุกคนสามารถเข้าชมได้อย่างเพลิดเพลิน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมและร่วมกิจกรรม 

ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงานได้ที่www.thailandnstfair.com หรือ Facebook :มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ LINE ID: @thailandnstfair หรือ Instagram : Thailandnstfairหรือสอบถามข้อมูลที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทร. 0 2577 9960สื่อมวลชนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทร 025779999

Visitors: 1,261,238