ธุรกิจประกันชีวิต ไตรมาส 2 เติบโต 6.8 %

เปิดปีบริหาร 60 – 61 เน้นปรับตัวรับเทคโนโลยีขับเคลื่อนธุรกิจ

สมาคมประกันชีวิตไทยเผย 6 เดือนแรกปี 2560 ธุรกิจประกันชีวิตไทย มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งสิ้น297,624.5 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.8 โดยแยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่จำนวน 82,961.2 ล้านบาท และเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไปจำนวน 214,663.3 ล้านบาท อัตราความคงอยู่ร้อยละ 84

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนรวม ทั้งภาครัฐและเอกชน การส่งออกสินค้าและบริการ รวมทั้งการขยายตัวของค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือน ส่งผลให้ธุรกิจประกันชีวิตในไตรมาส 2 (มกราคม – มิถุนายน) 2560 มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งสิ้น 297,624.5 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จำแนกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ (New Business Premium) 82,961.2 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 2.8 ซึ่งประกอบด้วยเบี้ยประกันชีวิตปีแรก (First Year Premium) 50,416.2 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 12.1 เบี้ยประกันชีวิตจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) 32,545.1 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 39.4 และเบี้ยประกันชีวิตปีต่อไป (Renewal Year Premium) 214,663.3 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 8.5 โดยมีอัตราการคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตร้อยละ 84 สาเหตุที่เบี้ยประกันชีวิตปีแรกติดลบในช่วงครึ่งปีแรก มาจากการที่บริษัทประกันชีวิตเน้นขายผลิตภัณฑ์คุ้มครองชีวิตและสุขภาพเป็นหลัก ซึ่งจำนวนเบี้ยประกันภัยต่อกรมธรรม์จะค่อนข้างต่ำ ส่งผลต่อเนื่องไปยังเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ด้วย

สำหรับช่องทางการจำหน่ายในช่วงไตรมาส 2 (มกราคม – มิถุนายน) ปี 2560 ช่องทางการจำหน่ายที่มีการขยายตัวมากเป็นอันดับหนึ่ง คือ ช่องทางการจำหน่ายผ่านธนาคาร ด้วยสัดส่วนการจำหน่ายร้อยละ 47.9 มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 142,503.2 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี ที่ผ่านมา อันดับสอง ช่องทางการจำหน่ายผ่านตัวแทนประกันชีวิต สัดส่วนการจำหน่ายร้อยละ 45.8 มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 136,220.8 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 4.4 อันดับสาม ช่องทางการจำหน่ายผ่านช่องทางอื่นๆ สัดส่วนการจำหน่ายร้อยละ 3.7 มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 11,064.1 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 8.2 และอันดับสี่ ช่องทางการจำหน่ายผ่านตลาดแบบตรง สัดส่วนการจำหน่ายร้อยละ 2.6 มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 7,837.8 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 4.8

แนวโน้มการเติบโตในครึ่งปีหลัง กรกฎาคม -ธันวาคม 2560 สมาคมยังคงคาดว่าเบี้ยประกันภัยรับรวมจะขยายตัวได้มากกว่าปี 2559 โดยมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 6 ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 600,000 ล้านบาท โดยมีหลายปัจจัยสนับสนุน อาทิ สภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ นโยบายของภาครัฐ ในเรี่องของกฏระเบียบให้มีความยืดหยุ่นเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจประกันชีวิตเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็น “Digital Insurance” และมาตรการทางด้านภาษี เพื่อส่งเสริมให้ผู้เอาประกันภัยนำค่าเบี้ยประกันชีวิตมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลได้ ซึ่งจะเป็นแรงดึงดูดใจสำคัญในการทำให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจในการทำประกันชีวิตมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคธุรกิจ อาทิ การแข่งขันของบริษัทประกันชีวิต มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายต่อเนื่อง เช่น ผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน (Investment Link Product) เพื่อตอบโจทย์ของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มองหาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ให้ทั้งความคุ้มครองชีวิตและยังได้ผลตอบแทนจากการลงทุน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพผู้เสนอขายผลิตภัณฑ์ Investment Link Product ให้มีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์อย่างลึกซึ้ง

การพัฒนาการให้บริการที่มุ่งเน้นสู่ความเป็นเลิศในทุกๆ ด้านด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการดำเนินงาน การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้หลากหลายครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย นอกเหนือจากการจำหน่ายผ่านตัวแทนฯ พร้อมทั้งพัฒนารูปแบบการให้บริการให้ทันสมัย สะดวกสบาย และสร้างความประทับใจในการใช้บริการ เพื่อรองรับ Life Style ของลูกค้าแต่ละราย เช่น การพัฒนาระบบการทำธุรกรรมประกันชีวิตผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Life Insurance) ให้ครอบคลุมในทุกขั้นตอนของการประกันชีวิต

สำหรับแนวโน้มแบบผลิตภัณฑ์ที่จะออกจำหน่ายในอนาคต บริษัทประกันชีวิตหลายบริษัทได้พัฒนากรมธรรม์ประกันชีวิตให้สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบันและเน้นขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบคุ้มครอง และผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน (Investment Link Product) มากขึ้น อันเนื่องมาจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำ ส่งผลให้ผู้บริโภคมองหาการลงทุนในลักษณะอื่นเพิ่มเติม ประกอบกับปัจจุบัน ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการทำประกันชีวิต การวางแผนทางการเงินเพิ่มมากขึ้น การมองหาการลงทุนในรูปแบบใหม่ที่ให้ความคุ้มครองที่คุ้มค่าและมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตแบบสามัญทั่วไป

ปัจจุบันประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ และตื่นตัวในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยจะเห็นได้จากอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2559 มีเบี้ยประกันสุขภาพทั้งสิ้นจำนวน 61,892.7 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.5 บริษัทประกันชีวิตได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้พัฒนาและเน้นการขายผลิตภัณฑ์ “สัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพ” และ “สัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรง” เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในยุคปัจจุบันมากขึ้น รวมทั้งการวางแผนชีวิตในวัยเกษียณ อันเนื่องมาจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งการประกันชีวิตแบบบำนาญหรือเงินได้ประจำ (Annuity) ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ สมาคมจึงคาดว่าในอนาคต อัตราการเติบโตและส่วนแบ่งการตลาดของกรมธรรม์แบบบำนาญจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับการปรับปรุงตารางมรณะไทยใหม่จะส่งผลกระทบต่อการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยของบริษัทโดยตรง โดยสมาคมประกันชีวิตไทยได้รับความร่วมมือจาก Munich Re เพื่อศึกษาการปรับปรุงตารางมรณะไทยในครั้งนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกันระหว่างสมาคม สำนักงาน คปภ. และ Munich Re โดยคาดว่าสำนักงาน คปภ.จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการประมาณต้นปี 2561

การบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS9) ซึ่งเป็นมาตรฐานบัญชีเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงิน จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 (ต่างประเทศมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2561) และจะบังคับใช้ TFRS17 ซึ่งเป็นมาตรฐานบัญชีเกี่ยวกับสัญญาประกันภัย ในวันที่ 1 มกราคม 2565 (ต่างประเทศมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2564) ทั้งนี้ในการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากถึง 2 ฉบับ ในระยะเวลาที่ห่างกันเพียง 3 ปี จะส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยได้รับผลกระทบในหลายด้านเป็นอย่างมาก อาทิ การเปลี่ยนแปลงแบบงบการเงิน รายงานฐานะการเงิน และการดำเนินการของบริษัทประกันชีวิต ซึ่งขณะนี้สมาคมกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกบธุรกิจประกันภัยและสภาวิชาชีพบัญชี

นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปีบริหาร 2560 – 2561 สมาคมมีนโยบายดำเนินกิจการเตรียมความพร้อมให้สามารถปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการพัฒนาระบบการดำเนินงานสู่ยุคดิจิทัล และลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ 18 กลยุทธ์ ดังต่อไปนี้

1. การสนับสนุนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายภาครัฐ โดยผลักดันให้มีการประกันชีวิตในรูปแบบดิจิตอล (Life Insurance Digital)
1.1 พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ E-Insurance แบบครบวงจร
1.2 Society & Knowledge ร่วมพัฒนาให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
1.3 ร่วมมือกับหน่วยงานกำกับและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

2. มุ่งพัฒนาระบบการประกันชีวิตให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Economical , Social and Environmental Changes)
2.1 เสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันชีวิต
2.2 ส่งเสริมให้บริษัทประกันชีวิตมีมาตรฐานการดำเนินงานที่สอดรับกับมาตรฐานสากล
2.3 ทบทวนกฎระเบียบให้มีความทันสมัยสอดรับกับสภาพการแข่งขันในปัจจุบัน และผลักดันให้มีกฎหมายใหม่ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค
2.4 ยกระดับมาตรฐานความรู้และเพิ่มศักยภาพการให้บริการแก่บุคลากรในธุรกิจประกันชีวิตทุกระดับ รวมถึงตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิตด้วย
2.5 พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายรองรับกับความต้องการของผู้บริโภคในยุค 4.0 และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงประชากร (Aging Society)
2.6 ยกระดับพฤติกรรมทางการตลาดของธุรกิจประกันชีวิต (Market Conduct) แบบครบวงจร เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค

3. ส่งเสริมและสนับสนุนแนวทางการให้ความรู้และการเข้าถึงบริการด้านการประกันชีวิตกับประชาชนแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม (Life Insurance Literacy)
3.1 บูรณาการความรู้ด้านการประกันชีวิตให้กับประชาชนและองค์กรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
3.2 พัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์ / สื่อความรู้ให้มีรูปแบบที่หลากหลายผ่านสื่อช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์
3.3 เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจประกันชีวิตในมิติของการเป็นเครื่องมือทางการเงินที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ทั้งในแง่ความมั่นคงในชีวิตและเป็นเครื่องมือช่วยบรรเทาความเสี่ยง 

4. เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการแข่งขันและพัฒนาความเชื่อมโยงภายใต้บริบทการเปิดเสรีสาขาประกันชีวิต (Liberalization)
4.1 พัฒนานวัตกรรมทั้งด้านผลิตภัณฑ์ ช่องทางการขายและรูปแบบการให้บริการ ให้สามารถแข่งขันได้
4.2 สนับสนุนให้ธุรกิจมีการขยายฐานตลาดออกสู่ต่างประเทศทั้งในภูมิภาคและภายนอกภูมิภาคอาเซียน (Intra – Extra Regional Insurance) ให้มากขึ้น
4.3 สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันชีวิตกับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

5. ยกระดับมาตรฐานการให้บริการงานสมาคม เช่น การเป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารของธุรกิจประกันชีวิต และการเป็นศูนย์รวมการจัดสอบและอบรมตัวแทน – นายหน้าประกันกันชีวิตที่มีคุณภาพ (Super Service Center)
5.1 พัฒนาศักยภาพของสมาคมในทุกด้านให้สามารถรองรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
5.2 พัฒนาสมาคมให้เป็นศูนย์กลางข้อมูล สถิติ ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและประชาชนทั่วไป
5.3 ยกระดับการให้บริการด้านการเป็นศูนย์กลางการจัดสอบและอบรมตัวแทนประกันชีวิต

Visitors: 1,261,108